วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เซนเซอร์ความเร็วรถยนต์ (Speed Sensor)

เซนเซอร์นี้มีหน้าที่ส่งสัญญาณตำแหน่งเพลาข้อเหวี่ยง ตำแหน่งเพลาราวลิ้น ความเร็วรถยนต์ไปให้กับ ECU/ECM  ประกอบด้วยเซนเซอร์ดังนี้
  • เซนเซอร์ตำแหน่งเพลาราวลิ้น/G Pickup Coil  (สัญญาณ G)
  • เซนเซอร์ตำแหน่งเพลาข้อเหวี่ยง/NE Pickup Coil (สัญญาณ NE)
  • เซนเซอร์ความเร็วรถยนต์/Speed Sensor (สัญญาณ SPD)
เพื่อใช้ในการตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง(Fuel Cut Off) ควบคุมความเร็วรอบเดินเบา(Idle Speed Control) และควบคุมอัตราส่วนผสมของอากาศกับน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะเร่งเครื่องหรือผ่อนคันเร่ง

เซนเซอร์ตำแหน่งเพลาราวลิ้น (สัญญาณ G)
สัญญาณตำแหน่งเพลาข้อราวลิ้นจะทำให้ ECU/ECM ทราบว่าสูบไหนที่อยู่ในตำแหน่งอัดเพื่อใช้กำหนดการฉีดน้ำมันของหัวฉีด และจังหวะการเปิดปิดวาล์ว

เซนเซอร์ตำแหน่งเพลาข้อเหวี่ยง (สัญญาณ NE)
สัญญาณ NE เป็นสัญญาณตำแหน่งเพลาข้อเหวี่ยงที่ส่งให้ ECU/ECM เพื่อให้ทราบความเร็วรอบของเครื่องยนต์ (RPM) และการเผาไหม้ที่ผิดปกติของเครื่องยนต์

สัญญาณ NE ที่ขาดช่วงไปเนื่องจากตำแหน่งนั้นโรเตอร์ไม่มีเฟืองอยู่ เพื่อให้ ECU/ECM ใช้อ้างอิงตำแหน่งของเพลาข้อเหวี่ยงสัญญาณ NE เมื่อนำมารวมกับสัญญาณ G (G22) ทำให้ ECU/ECM ทราบถึงตำแหน่งและระยะชักของลูกสูบ

เซนเซอร์ความเร็วรถยนต์ (Vehicle Speed Sensor-VSS)
มีหน้าที่ตรวจจับความเร็วรถยนต์เพื่อใช้ในการตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ควบคุมความเร็วรอบเดินเบา (Idle Speed Control) และควบคุมอัตราส่วนผสมของอากาศกับน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะเร่งเครื่องหรือเบาเครื่องยนต์ เซนเซอร์ตัวนี้จะวัดสัญญาณจากเพลาส่งกำลังด้านท้ายเกียร์(Transmission or Transaxe) เพื่อวัดความเร็วของรถยนต์ นอกจากนี้ ECU/ECM ยังใช้สัญญาณนี้ในการวิเคราะห์การทำงานของเครื่องยนต์ขณะเริ่มต้นด้วย
สัญญาณ VSS นี้จะมีลูกแบบวิธีการส่งไปให้ ECU/ECM แตกต่างกันขึ้นอยู่กับการออกแบบ ในรถยนต์บางรุ่นที่ติดตั้งระบบเบรก ABS จะใช้สัญญาณจากความเร็วล้อรถกับสัญญาณความเร็ว ไปให้มาตรวัดรวม(Combination Meter) แล้วถึงจะส่งไปให้ ECU/ECM ดังรูป


เซนเซอร์ VSS ที่ติดตั้งอยู่บริเวณเพลาส่งกำลัง (Transaxle)
เซนเซอร์ตรวจจับความเร็วรถยนต์มีอยู่ 4 แบบ คือ
  1. เซนเซอร์วัดความเร็วแบบขดลวดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Pickup Type)
  2. เซนเซอร์ความเร็วแบบ MRE (Magnetic Resistance Element-MRE)
  3. เซนเซอร์ความเร็วแบบรีดสิวทช์ (Reed Switch Type)
  4. เซนเซอร์ความเร็วแบบใช้ชุดตรวจจับแสง (Photo Coupler Type)
1. เซนเซอร์วัดความเร็วแบบขดลวดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Pickup Type)
เซนเซอร์วัดความเร็วแบบขดลวดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จะติดตั้งอยู่บริเวณเสื้อเกียร์เพื่อตรวจจับความเร็วของเพลาส่งกำลัง ประกอบด้วย
  • แม่เหล็กถาวร (Magnet)
  • ขดลวด (Coil)
  • แกนขดลวด (Core)
  • โรเตอร์ (Rotor)

เซนเซอร์ขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าทำงานโดยใช้หลักการขดลวดปิคอัพ (Pickup Coil) ซึ่งประกอบด้วย แม่เหล็กถาวร(Magnet) ขดลวด (coil) และแกนขดลวด(Core) โดยติดตั้งอยู่ใกล้กับฟันของเฟือง เมื่อเพลาของเกียร์หมุนจะทำให้โรเตอร์หมุนไปด้วย แต่ละครั้งที่ฟันเฟือง(โรเตอร์) หมุนผ่านเซนเซอร์จะเหนี่ยวนำให้เกิดลูกคลื่นแรงกระแสสลับ AC ขึ้นที่ขดลวด ถ้าความเร็วของรถยนต์สูง เฟืองก็จะหมุนเร็วลูกคลื่นที่ได้ก็จะมากตามไปด้วย แต่ถ้าความเร็วของรถยนต์ต่ำลูกคลื่นที่ได้ก็จะน้อยลง จำนวนรูปคลื่นที่ได้ต่อวินาทีก็คือสัญญาณความถี่ (signal frequency)นั่นเอง ความถี่นี้จะถูกส่งไปให้กับ ECU

2. เซนเซอร์ความเร็วแบบ MRE (Magnetic Resistance Element-MRE)


เซนเซอร์ตรวจจับความเร็วรถยนต์แบบใช้สาร MRE ซึ่งเป็นสารที่เปลี่ยนค่าความต้านทานตามความเข้มของสนามแม่เหล็ก จะติดตั้งอยู่ที่เพลาส่งกำลังด้านท้ายเกียร์ ประกอบด้วยวงจรไฮบริด (Hybrid Integrated Circuit) และวงแหวนแม่เหล็ก (Magnetic Ring) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
  1. ชนิดส่งสัญญาณออกมาเป็นแรงดันไฟฟ้า
  2. ชนิดความต้านทานปรับค่าได้
2.1 ชนิดส่งสัญญาณออกมาเป็นแรงดันไฟฟ้า
เมื่อวงแหวนแม่เหล็กหมุน(Magnetic Ring) จะได้สัญญาณไฟฟ้ากระแสสลับออกมาจากวงจรไฮบริด MRE ขา 2 และ 4 และถูกส่งให้กับวงจรเปรียบเทียบแรงดันไฟฟ้า(Comparator) เพื่อเปลี่ยนสัญญาณกระแสสลับไปเป็นสัญญาณดิจิตอล แล้วส่งไปให้มาตรวัดรวม(Combination Meter) เพื่อแปลงเป็นสัญญาณความถี่ก่อนส่งไปให้ ECU


3. เซนเซอร์ความเร็วแบบรีดสิวทช์ (Reed Switch Type)
แบบรีดสวิตช์ (Reed Switch Type) ติดตั้งอยู่ที่ด้านหลังหน้าปัดบริเวณที่ต่อสายไมล์ เมื่อสายไมล์หมุนกลไกตรวจจับความเร็วที่มีแม่เหล็กอยู่ก็จะหมุนตามไปด้วย ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไปดึงดูดให้รีดสวิทช์เปิดปิดเมื่อสายไมล์หมุน 1 รอบจะได้สัญญาณไฟฟ้า 4 ครั้ง สัญญาณนี้จะถูกส่งไปให้ ECU เพื่อใช้เป็นข้อมูลความเร็วของรถยนต์


4. เซนเซอร์ความเร็วแบบใช้ชุดตรวจจับแสง (Photo Coupler Type)
ในขณะที่ซี่ล้อ(Slotted wheel) หมุนโดยแรงขับจากสายไมล์(speedometer cable) ทุกครั้งที่ช่องว่างของซี่ล้อตรงกับตำแหน่งตรวจจับแสงซึ่งมีไดโอดเปล่งแสง(LED) อยู่ด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นโฟโตทรานซิสเตอร์ (Photo Transistor) จะทำให้โฟโตทรานซิสเตอร์นำกระแสไฟฟ้า และจะหยุดนำกระแสไฟฟ้าเมื่อซี่ล้อหมุนมาบังแสง ดังนั้นสัญญาณที่ได้จึงเป็นลักษณะ ON-OFF โดยจะทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้า 20 คลื่นต่อการหมุนของสายไมล์หรือซี่ล้อหนึ่งรอบ หลังจากนั้นจะถูกเปลี่ยนให้เหลือ 4 คลื่นโดยมาตรวัดดิจิตอล(Digital Meter) ก่อนส่งไปให้ ECU