แบตเตอรี่ตะกั่วกรดเป็นแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาแบตเตอรี่ด้วยกัน ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยแกสตัน พลองด์ (Gaston Plante') นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ปีค.ศ.1859 (พ.ศ.2402) เป็นแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ชนิดแรกที่ทำออกมาเพื่อการค้า และในปัจจุบันยังมีการใช้งานกันอยู่อย่างแพร่หลาย โดยมักจะทำเป็นแบตเตอรี่ที่มีความจุ (Capacity) สูง ๆ ที่ให้กระแสได้มาก เนื่องจากมีต้นทุนในการเก็บพลังงานถูกกว่าแบตเตอรี่ชาร์จได้ชนิดอื่น ๆ นิยมใช้กันในรถยนต์และยานพาหนะต่าง ๆ (Vehicle), รถยกไฟฟ้า (Fork Lift), รถเข็น (Wheel Chair), สกู๊ตเตอร์ (Scooter), รถกอล์ฟ (Golf Car), ระบบสำรองไฟฟ้า (UPS) และระบบไฟแสง สว่างฉุกเฉิน (Emergency Light) ใน ตอนแรกแบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่ผลิตออกมาจำหน่ายมีเฉพาะที่เป็นแบตเตอรี่แบบ เปียก (Flooded Type หรือ Wet Type) ที่ต้องคอยเติมน้ำกลั่นเท่านั้น จนกระทั่งในช่วงกลางของทศวรรษที่ 70 (ระหว่างปี พ.ศ.2513-2523) ได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบแห้งให้ใช้งานได้ หลังจากที่มีการจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปีค.ศ.1957(พ.ศ.2500) โดยอ๊อตโต จาเช่ (Otto Jache) ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นสามารถวางตำแหน่งนอนหรือวางตะแคงได้ (แต่ห้ามวางกลับหัว) ไม่จำเป็นต้องวางในแนวตั้งเพียงอย่างเดียวเพราะอิเล็กทรอไลต์ที่เป็นน้ำกรด จะไม่ไหลหกออกมาเหมือนแบตเตอรี่แบบเปียก ซึ่งเทคนิคในการทำให้น้ำกรดไม่ไหลออกมาคือการใช้วัสดุดูดซับน้ำกรดเอาไว้ จากนั้นจึงทำการผนึกเซล (Seal) ให้ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและแก๊สซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำกรด แบตเตอรี่จึงไม่มีการสูญเสียอิเล็กทรอไลต์ออกไปจากแบตเตอรี่ | |
แกสตัน พลองด์ (Gaston Plante') |
การแบ่งประเภทของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด
แบตเตอรี่แบบแห้งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือประเภทที่ใช้เจลเป็นวัสดุดูดซับกรดเรียกว่าแบตเตอรี่แบบเจล (Gel Battery or GelCell) และประเภทที่ใช้แผ่นซิลิกาไฟเบอร์เป็นตัวดูดซึม เรียกว่าแบตเตอรี่แบบ AGM (Absorbed Glass Mat Battery) ซึ่งลักษณะการแบ่งประเภทแบบนี้เป็นการแบ่งตามลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของ แบตเตอรี่ แต่การแบ่งประเภทของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด ยังแบ่งได้อีกลักษณะหนึ่งคือการแบ่งประเภทตามลักษณะการใช้งาน โดยจะแบ่งเป็นแบตเตอรี่แบบใช้งานทั่วไป หรือแบบที่ใช้สำหรับสตาร์ทเครื่องยนต์ แบบคายประจุลึกและแบบลูกผสม
ความแตกต่างระหว่างแบตเตอรี่แบบเจลและแบบ AGM คือ แบตเตอรี่แบบเจลจะเป็นแบตเตอรี่ที่แห้งกว่าแบบ AGM ถ้าเปลือกนอกของมันแตกจะไม่มีน้ำกรดไหลหรือซึมออกมา แต่สำหรับแบบ AGM จะซับน้ำกรดได้ประมาณ 95% ดังนั้นถ้าเปลือกของมันแตกแม้น้ำกรดจะไหลออกมา แต่ก็อาจจะมีการซึมออกมาได้บ้างเล็กน้อย
ในปัจจุบันจะนิยมใช้แบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบ AGM มากกว่าแบบเจล ส่วนแบบเจลมีการใช้น้อยลงเนื่องจากมีข้อเสีย คือเจลมักจะละลายเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน และถ้าเกิดการโอเว่อร์ชาร์จขึ้นเจลอาจจะเปลี่ยนรูปเป็นสารเหนียว ๆที่เรียกว่าวอยด์(Void) ไปเกาะติดแน่นอยู่ที่แผ่นธาตุขัดขวางการแลกเปลี่ยนประจุระหว่างอิเล็กทรอไลต์และแผ่นธาตุ ทำให้ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลดลง
แบตเตอรี่ทั้งแบบ AGM และแบบเจล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็นแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบปิดผนึกหรือ SLA (Sealed Lead Acid) และแบบปิดผนึกที่มีวาล์วระบายแรงดันหรือVRLA (Valve Regultor Lead Acid) แบตเตอรี่แบบ VRLA นี้จะมีการติดตั้งเซฟตี้วาล์ว (Safety Valve) เพื่อใช้ระบายแก๊สในกรณีที่ความดันภายในเซลสูงเกินไปเพื่อป้องกันแบตเตอรี่เสียหาย
การชาร์จแบตเตอรี่ ทั้ง 2 ประเภท คือ SLA and VRLA จะต้องไม่ชาร์จเร็วหรือมากจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแก๊สในขณะชาร์จมากนัก การชาร์จมากหรือเร็วเกินไปจะทำให้ปฎิกิริยาเคมีภายในเซลส์ดูดซัดแก๊สที่เกิด ขึ้นไม่ทันความดันภายในแบตเตอรี่จะสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียแก๊สและน้ำออกไปจากตัวแบตเตอรี่ การเสียแก๊สและน้ำออกไปก็เท่ากับว่าแบตเตอรี่ได้สูญเสียอิเล็กทรอไลต์ออกไปจากระบบ เพราะแก๊สและน้ำเป็นส่วนประกอบของอิเล็กทรอไลต์ เมื่อแบตเตอรี่มีปริมาณอิเล็กทรอไลต์น้อยลง จะสูญเสียความสามารถในการเก็บพลังงานไป ทำให้แรงดันไฟฟ้าหรือโวลต์ของแบตเตอรี่หลังจากการชาร์จไม่สูงเท่าที่ควรจะเป็น และถ้าแบตเตอรี่มีการเสียแก๊สและน้ำบ่อย ๆ อิเล็กทรอไลต์ภายในเซลส์ก็จะหมดไปทำให้แบตเตอรี่ใช้งานไม่ได้อีก
การใช้และเก็บอย่างถูกวิธี
แบตเตอรี่ตะกั่วกรดจะไม่มีการจำว่า ก่อนชาร์จแบตเตอรี่มีประจุเหลืออยู่เท่าไรหรือเมมอรี่เอฟเฟค (Memory Effect) ต่างจากแบตเตอรี่แบบนิกเกิลแคดเมี่ยม ถ้าแบตเตอรี่มีประจุเต็มอยู่แล้วการนำไปชาร์จโดยการให้กระแสต่ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ แบตเตอรี่จะ ไม่เสีย แต่มันไม่ชอบการคายประจุที่ลึกมาก ๆ โดยเฉพาะการคายประจุจนหมด ทุกครั้งที่เราดิสชาร์จมันลึกมาก ๆ จะทำให้ความสามารถในการเก็บประจุของมันลดลง ส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้งานจนแบตเตอรี่ประจุหมดบ่อย ๆ ควรป้องกันการคายประจุที่ลึกมากเกินไป โดยเลือกใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นความจุสูงขึ้น(แอมป์ชั่วโมงมากขึ้น) เพื่อไม่ให้แบตเตอรี่คายประจุลึกมากนัก
การทิ้งแบตเตอรี่ตะกั่วกรดไว้เฉย ๆ เป็นเวลานานแบตเตอรี่จะคายประจุออกไปเรื่อย ๆ ด้วยตัวมันเอง (Self Discharge) ถ้าไม่ชาร์จเพื่อเติมประจุให้กับแบตเตอรี่ผลึกของตะกั่วซัลเฟต ที่เกิดขึ้นที่แผ่นธาตุลบจะรวมตัวกันแล้วมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลึกที่มีขนาดใหญ่นี้จะไปขัดขวางการไหลของกระแสทำให้กระแสไหลได้น้อยลง ส่งผลให้แบตเตอรี่จ่ายกระแส ให้กับโหลดได้น้อยลง นอกจากนี้ผลึกที่มีขนาดใหญ่จะมีเหลี่ยมหรือมุมที่คมและแหลม ในกรณีที่ร้ายแรงอาจจะทิ่มจนแผ่นธาตุทะลุได้ ทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรขึ้น ภายในเราจะเรียกปรากฎที่เกิดผลึกขนาดใหญ่ของตะกั่วซัลเฟตนี้ว่าการเกิด ซัลเฟชั่น (Sulfation)
การเกิดซัลเฟชั่นจะยิ่งง่ายขึ้นถ้าทิ้งแบตเตอรี่ไว้โดยที่มันมีประจุเหลืออยู่น้อยหรือไม่เหลืออยู่เลย ดังนั้นจึงควรเก็บแบตเตอรี่ไว้โดยการชาร์จให้ประจุเต็มอยู่เสมอ โดยอาจจะชาร์จเติมประจุโดยใช้กระแสต่ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่าทริกเกิลชาร์จหรือโฟลทชาร์จ ซึ่งการชาร์จแบบนี้มักจะพบในระบบสำรองไฟฟ้าหรือระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉิน เพื่อให้แบตเตอรี่มีประจุอยู่เต็มตลอดเวลาเป็นการรักษาแบตเตอรี่ และทำให้แบตเตอรี่พร้อมที่จะจ่ายพลังงานเมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง หรือจ่ายกระแสให้กับระบบไฟส่องสว่างเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือไฟฟ้าดับ
การชาร์จแบตเตอรี่ตะกั่วกรดโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 8-16 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่) โดยแบตเตอรี่แบบแห้งจะชาร์จได้ช้ากว่าแบบเปียก เพราะจะต้องลดอัตราการชาร์จลงเพื่อไม่ให้เกิดแก๊สขึ้นภายในเซลส์มากเกินไป การสะสมของแก๊สจะทำให้ความดันภายในเซลส์สูงขึ้น ทำให้สูญเสียอิเล็กทรอไลต์ไปจากการระบายแก๊สหรือน้ำออกทางรูระบายหรือเซฟตี้วาล์ว หรืออาจทำให้แบตเตอรี่ถึงขั้นแตกเสียหายได้ถ้าชาร์จเร็วสูงทำให้ความดันสูงไปด้วย จนเซฟตี้วาล์วระบายความดันไม่ทัน
แผ่นธาตุของแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพจากปัจจัยต่าง ๆ เช่นจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน หรือการบำรุงรักษาการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง แบตเตอรี่จะแสดงพฤติกรรมเหมือนกับแบตเตอรี่ที่ยังดีอยู่ คือยังดูเหมือนว่ามีประจุอยู่เต็ม แต่ในความเป็นจริงความจุของมันจะลดลง (เหมือนแบตเตอรี่ที่ขนาดเล็กลง) แบตเตอรี่ยังสามารถทำงานได้อยู่แต่ประจุจะหมดเร็วขึ้นหรืออาจจะจ่ายกระแสได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของอุปกรณ์ เพื่อเป็นการเพิ่มอายุการใช้งานของแผ่นธาตุ ในบางครั้งจะมีการเติมสารตัวอื่นเข้าไปในแผ่นธาตุด้วย เช่นแบบ AGM อาจจะใช้แผ่นธาตุที่เป็นตะกั่วแคลเซี่ยม (Lead Calcium) หรือแบตเตอรี่แบบคายประจุได้ลึกที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือในรถยกไฟฟ้าจะ ใช้แผ่นธาตุชนิดตะกั่วพลวง ซึ่งสารที่ใช้ทำแผ่นธาตุมักจะเขียนบอกอยู่ที่เปลือกของแบตเตอรี่ สำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้แผ่นธาตุชนิดตะกั่วพลวงนอกจากจะทำให้อายุการใช้งานของ แผ่นธาตุมากขึ้นแล้ว แผ่นธาตุยังมีความแข็งแรงทางกลเพิ่มขึ้นอีกด้วยเหมาะกับการใช้งานในรถยก ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่ต้องการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา | |
แต่ก็มี ข้อเสียคือแบตเตอรี่แบบตะกั่วพลวงนี้จะมีอัตราคายประจุด้วยตัวมันเองมากและ มีการสูญเสียน้ำและแก๊สมาก ทำให้ต้องตรวจสอบระบดับของน้ำกรดและเพิ่มเติมน้ำกลั่นบ่อยกว่าแบตเตอรี่ที่ ใช้แผ่นธาตุเป็นตะกั่วหรือตะกั่วแคลเซียม |
อัตราการคายประจุ
อัตราการคายประจุหรืออัตราการดิสชาร์จ หรือที่เรียกว่าซีเรทของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด ไม่ควรเกิน 0.2 C หรือ 20% ของความจุ ถ้าอัตราการดิสชาร์จมากขึ้นประสิทธิภาพของมันจะลดลง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรจะดิสชาร์จในอัตราที่มากกว่า 1 Cสรุปก็คือแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดนี้ชอบคายประจุน้อยนิดหน่อยแล้วก็ชาร์จจึง จะทำให้มันมีอายุยืนยาวกว่าการคายประจุมาก ๆ หรือการใช้ประจุจนหมดแล้วจึงชาร์จ
รอบของการใช้งาน (Cycle) โดยทั่วไป อยู่ที่ประมาณ 200-300 รอบขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน ความลึกของการคายประจุหรือเรียกย่อว่า DOD, การชาร์จ การบำรุงรักษาและอุณหภูมิในการใช้งานสาเหตุหลักที่ให้แบตเตอรี่อายุการใช้ งานลดลงก็คือการกัดกร่อนที่แผ่นธาตุบวก ซึ่งการกัดกร่อนนี้จะมากขึ้นที่อุณหภูมิสูงขึ้น
อุณหภูมิกับอายุการใช้งาน
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการใช้งานอยู่ที่ 25 องศา (77 ฟาเรนไฮต์) อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 8 องศา (15 ฟาเรนไฮต์) จะทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลดลงครึ่งหนึ่ง เช่นแบตเตอรี่แบบ VRLA จะมีอายุถึง 10 ปีที่อุณหภูมิ 25 องศาแต่จะลดลงเหลือ 5 ปี ที่อุณหภูมิ 33 องศา (95 ฟาเรนไฮต์) และอายุเหลือไม่ถึง 1 ปีที่อุณหภูมิ 42 องศา (107 ฟาเรนไฮต์) นอกจากนี้มันยังทำงานได้ไม่ดีในที่อุณหภูมิต่ำอีกด้วย อุณหภูมิที่ลดต่ำลงจะทำให้แบตเตอรี่เก็บประจุได้น้อยลง ความจุของแบตเตอรี่จะลดลง 50 % ทุกๆ อุณหภูมิที่ต่ำลง 12 องศา (22 ฟาเรนไฮต์) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในตอนเช้าที่อากาศเย็นเราถึงสตาร์ทรถติดได้ยาก แต่การใช้งานที่อุณหภูมิต่ำก็จะทำให้อายุการใช้งานของมันยาวนานมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การเก็บรักษากับคายประจุ
การคายประจุโดยตัวมันเอง (Self Discharge) น้อยมาก ถ้าเป็นแบตเตอรี่แบบเปียกอัตราการคายประจุประมาณ 40% ต่อปี (เทียบกับนิกเกิลแคดเมียมที่มีอัตราการคายประจุโดยตัวมันเองอยู่ที่ 20% ต่อเดือน) ส่วนแบตเตอรี่แบบแห้งจะมีอัตราการคายประจุน้อยกว่าแบบเปียกโดยเฉพาะ แบตเตอรี่ AGM รุ่นใหม่ ๆ บางชนิด อัตราการคายประจุด้วยตัวมันเองจะไม่เกิน 2% ต่อเดือน นอกจากนี้แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด ถึงจะมีราคาถูกแต่ถ้าเป็นแบตเตอรี่แบบที่ต้องเติมน้ำกลั่นก็จะมีค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นมา คือต้องคอยตรวจสอบระดับของน้ำกรด (อิเล็กทรอไลต์) เพื่อเติมน้ำกลั่นเมื่อระดับของน้ำกรดต่ำเกินไปและต้องหมั่นทำความสะอาดคราบ ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดเนื่องจากการกัดกร่อนของกรด อีกทั้งยังต้องระวังในเรื่องสถานที่ตั้งของแบตเตอรี่ด้วย ไม่ควรตั้งไว้ใกล้แหล่งความร้อนหรือประกายไฟเพราะในขณะชาร์จ (โดยเฉพาะถ้าชาร์จโดยเปิดฝาปิดของแบตเตอรี่ ) จะเกิดแก๊สไฮโตรเจนขึ้นอาจทำให้ระเบิดได้
ถ้าเปรียบเทียบกับแบตเตอรี่ชาร์จได้ชนิดใหม่ ๆ แล้วที่น้ำหนักเท่า ๆ กันแบตเตอรี่ตะกั่วกรดจะมีความสามารถในการเก็บประจุได้น้อยกว่า จึงไม่เหมาะที่จะนำมาทำเป็นแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์พกพาซึ่งต้องการแบตเตอรี่ ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เพราะจะทำให้กำลังไฟได้น้อย ทำให้ต้องชาร์จแบตเตอรี่ บ่อยจนเกินไป หรือทำให้อุปกรณ์มีน้ำหนักมากจนเกินไป แต่เนื่องจากราคาต้นทุนต่อพลังงานที่ได้ต่ำกว่าแบตเตอรี่ ชาร์จได้ชนิดอื่นจึงนิยมนำมาทำแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่มีความจุมาก หน่วยความจุของแบตเตอรี่ตะกั่วกรดโดยทั่วไปจะวัดเป็นแอมป์ชั่วโมง(Amp-Hour or Ah) ในขณะที่แบตเตอรี่ชาร์จได้แบบอื่นส่วนมากจะใช้หน่วยเป็นมิลลิแอมป์ชั่วโมง (mAh) เนื่องจากเป็นแบตเตอรี่ขนาดเล็กมีขนาดความจุน้อยกว่าแบตเตอรี่ตะกั่วกรดนั่นเอง
อันตรายและการนำกลับมาใช้ใหม่
ในด้านความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม แบตเตอรี่ตะกั่วกรดแม้จะมีอันตรายน้อยกว่าแบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมี่ยม แต่ตะกั่วซึ่งเป็นโลหะหนักและกรดซัลฟุริกก็ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเปลือก (Case) ซึ่งทำจากพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นจำพวกเอบีเอส (ABS) เพียง 45% หรือขวดแก้วที่ได้เพียง 26% เท่านั้น
ข้อดี
-ราคาถูกกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นและสามารถผลิตได้ง่าย
- มีการพัฒนามานานแล้ว จึงมีความเชื่อถือได้และหาข้อมูลได้ง่าย
- ถ้าใช้อย่างถูกต้องจะทนทานมาก
- การคายประจุโดยตัวมันเอง (Self Discharge) น้อย
- ไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนักโดยเฉพาะแบตเตอรี่ แบบแห้ง
- ไม่เกิดการจดจำ (No Menory Effect)
- สามารถให้กระแสดิสชาร์จได้มาก
- มีขนาดให้เลือกมาก
ข้อด้อย
- ความจุของพลังงานต่อน้ำหนักต่ำทำให้มีน้ำหนักมาก
- ไม่สามารถเก็บไว้ได้โดยแบตเตอรี่ไม่มีประจุ เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็ว
- ตะกั่วและกรดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม
- มีระเบียบที่เข้มงวดในการขนส่งโดยเฉพาะแบตเตอรี่แบบเปียก เพราะอาจเกิดการหกหรือซึมของกรดออกจากเปลือกแบตเตอรี่ได้
คำศัพท์
ความลึกของการคายประจุ หรือความลึกของการดิสชาร์จ (Depth of Dischargeหรือเรียกย่อ ๆ ว่า DoD) คือระดับของการคายประจุ เช่นถ้าแบตเตอรี่สามารถเก็บประจุไว้ได้ 100% ถ้าเราดิสชาร์จประจุไป 10% หรือ 20% การดิสชาร์จประจุไป 20% ก็จะถือว่ามีความลึกของการดิสชาร์จมากกว่าการใช้ไปแค่ 10% ดังนั้น ถ้าเราใช้แบตเตอรี่จนประจุเกือบหมดหรือหมดเลย ก็จะถือว่ามีความลึกของการดิสชาร์จมาก ซึ่งการดิสชาร์จที่ลึกมาก ๆ ไม่สมควรใช้กับแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด เพราะจะทำให้อายุการใช้งานของมันสั้นลง
การดิสชาร์จในช่วงแคบ (Shallow Discharge) หรือการดิสชาร์จตื้นจะตรงกันข้ามกับการดิสชาร์จลึก (Deep Discharge) คือการใช้แบตเตอรี่ไปสักเล็กน้อย เช่น 10% หรือ20% ของความจุทั้งหมดแล้วก็ชาร์จใหม่ แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดจะชอบการใช้งานแบบนี้
ซัลเฟชั่น (Sulfation) คือการเกิดผลึกขนาดใหญของตะกั่วซัลเฟตไปเกาะที่อิเล็กโทรดลบ (แผ่นธาตุลบ) ซึ่งผลึกจะไปขัดขวางการไหลของกระแสไฟฟ้า
มีสาเหตุมาจากการเก็บแบตเตอรี่ไว้โดยมีประจุในแบตเตอรี่น้อยเกินไป
การชาร์จแบบทริกเกิลและโฟลท (Trickle Charge, Float Charge, Topping Charge) เป็นการชาร์จโดยให้กระแสกับแบตเตอรี่น้อยๆ ส่วนมากจะใช้ในการชาร์จเพื่อชดเชยประจุ (หลังจากชาร์จประจุของแบตเตอรี่ ที่มีประจุเต็มแล้ว) เมื่อประจุของแบตเตอรี่ลดลงเนื่องจากการคายประจุด้วยตัวมันเอง (Self Discharge) หรือเพื่อเติมประจุในขั้นตอนการชาร์จขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้แบตเตอรี่มีความจุเต็ม 100%
ซีเรท (C-Rate) หน่วยของการชาร์จและติดชาร์จ จะคิดเป็นจำนวนเท่าของความจุของแบตเตอรี่ เช่นแบตเตอรี่ขนาด 80 แอมป์ ชั่วโมง (Ah) ถ้าให้มันดิสชาร์จ ที่ 1C ก็ คือให้มันดิสชาร์จกระแส 80 แอมป์ ซึ่งจะใช้งานได้ 1 ชั่วโมงแบตเตอรี่ก็จะหมด แต่ถ้าดิสชาร์จที่ 0.5 C ก็คือให้มันดิสชาร์จกระแสที่ 40 แอมป์ซึ่งจะใช้งานแบตเตอรี่ได้ 2 ชั่วโมง หรือถ้าให้แบตเตอรี่ดิสชาร์จที่ 2 C ก็คือให้มันดิสชาร์จกระแส 160 แอมป์ ซึ่งจะใช้งานได้แค่ 30 นาทีเป็นต้น
สำหรับแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด การดิสชาร์จที่ซีเรทมากขึ้นประสิทธิภาพจะลดลง เช่นแบตเตอรี่ขนาด 80 แอมป์ชั่วโมง ถ้าดิสชาร์จที่ 1 C ในทางปฎิบัติแล้ว มันจะจ่ายกระแสได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง
WWW.PCNFORKLIFT.COM